ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ หัวใจ คือ อวัยวะที่ประกอบด้วยกล้ามเนื้อและภายในกลวง อยู่บริเวณส่วนกลางใต้กระดูกหน้าอกค่อนข้างไปทางซ้ายเล็กน้อย หัวใจมีหน้าที่สูบฉีดโลหิต นำพาออกซิเจนและสารอาหารไปยังทุกส่วนของร่างกาย หัวใจของคนเราแบ่งออกเป็น 4 ห้อง มี 2 ห้องบน และ 2 ห้องล่าง หัวใจซีกขวารับโลหิตที่ใช้แล้วจากร่างกาย แล้วสูบฉีดไปยังปอดเพื่อรับออกซิเจน โลหิตที่มีออกซิเจนก็จะกลับไปยังหัวใจด้านซ้าย และก็จะถูกสูบฉีดโลหิตผ่านเส้นเลือดใหญ่ไปยังทุกส่วนของร่างกาย

หัวใจเริ่มเต้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา กล้ามเนื้อหัวใจมีลักษณะพิเศษกว่ากล้ามเนื้ออื่น ๆ คือ สามารถปล่อยกระแสไฟฟ้าได้เอง ไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจะเริ่มต้นจากหัวใจห้องขวาบน (Sinus Node) กระจายออกไปตามเซลล์นำไฟฟ้า ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในหัวใจ เริ่มจากห้องบนขวาไปห้องบนซ้ายและลงหัวใจห้องล่าง เมื่อเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจถูกกระแสไฟฟ้านี้ก็จะเกิดการหดตัวขึ้น ทำให้เกิดการบีบตัวของห้องหัวใจ

ไลฟ์สไตล์เกี่ยวเนื่องกับหัวใจโดยตรง
ไม่เฉพาะแต่ผู้สูงอายุเท่านั้นที่มีความเสี่ยงโรคหัวใจ เพราะเดี๋ยวนี้หนุ่มสาววัยทำงานก็เสี่ยงเป็นโรคหัวใจมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากหลายปัจจัย รวมถึงไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปทำให้การใช้ชีวิตไร้คุณภาพ ไม่ว่าจะเป็น การกินอาหารฟาสต์ฟู้ดเป็นประจำ สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เครียดจากการทำงาน ขาดการออกกำลังกาย หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงได้ทั้งสิ้น และยิ่งหากมีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน โรคเบาหวาน หรือภาวะไขมันในเลือดและความดันโลหิตสูงด้วยแล้ว ยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจด้วย

รู้จัก “โรคหัวใจ”
โรคหัวใจ (Heart Disease) คือโรคที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ สามารถแบ่งย่อยได้เป็นหลายกลุ่มโรค เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคลิ้นหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และโรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันโรคหัวใจและหลอดเลือดมีอัตราการเสียชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด จำนวน 54,530 คน เฉลี่ยเสียชีวิตวันละ 150 คน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คนเลยทีเดียว

พฤติกรรมการใช้ชีวิต…เป็นสิ่งสำคัญ
สาเหตุสำคัญของโรคหัวใจโดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจนั้นมักเกิดจากปัจจัยเสี่ยงด้านพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ทำอยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น การสูบหรือสูดดมควันบุหรี่ การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง มีรสหวาน และอาหารเค็ม และยังรวมไปถึงน้ำหนักตัว ความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือดด้วย

สัญญานเตือน “โรคหัวใจ” ที่ต้องสังเกต
– เหนื่อยง่าย เวลาออกกําลังกาย หรือเดินเร็วๆ หายใจเข้าได้ลำบาก อาจจะเป็นตลอดเวลา เป็นขณะออกกำลังกาย หรือใช้แรงมาก หรือเป็นเฉพาะในเวลากลางคืน
– เจ็บหน้าอก หรือแน่นบริเวณกลางหน้าอก หรือด้านซ้าย หรือทั้ง 2 ด้าน ไม่สามารถนอนราบได้เหมือนปกติ เพราะจะรู้สึกเหนื่อยเวลาหายใจ และอึดอัดตรงหน้าอก
– มีอาการหอบจนต้องตื่นขึ้นมาหอบกลางดึก
– เป็นลมหมดสติไม่ทราบสาเหตุ
– ขา หรือเท้าบวมโดยไม่ทราบสาเหตุ ปลายมือ ปลายเท้า และริมฝีปากมีลักษณะเขียวคล้ำ

สาเหตุของโรคหัวใจ
สาเหตุของโรคหัวใจขึ้นอยู่กับชนิดของโรคหัวใจนั้น ๆ สำหรับโรคหลอดเลือดหัวใจจากภาวะการเสื่อมของหลอดเลือด en มีสาเหตุไม่ชัดเจนแต่พบว่าสัมพันธ์กับปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยปัจจัยเสี่ยงแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ

-ปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้และสามารถปรับเปลี่ยนได้
-ปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้และไม่สามารถเปลี่ยนแปลง เช่น อายุ เพศ หรือประวัติสุขภาพของคนในครอบครัวได้ แต่สามารถชะลอโรคด้วยการควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่กำหนดเองได้ก็จะป้องกันปัญหาโรคหัวใจที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้